ประวัติความเป็นมา

          ห้องสมุดได้ก่อตั้งพร้อมกับโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมูล จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2485

          พ.ศ. 2503 ได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูเชียงใหม่ และได้พัฒนาห้องสมุด เป็นหอสมุดวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ซึ่งเดิมตั้งอยู่ในอาคารเรียนรวมหมายเลข 3 ชั้น 2 โดยใช้ห้องเรียน 4 ห้อง จัดเป็นหอสมุด

          พ.ศ. 2517 หอสมุดได้ย้ายมายังอาคาร 6 ซึ่งเป็นเอกเทศ 4 ชั้น ปัจจุบัน คือ อาคารสำนักดิจิทัลเพื่อการศึกษา

           พ.ศ. 2535 วิทยาลัยครู 36 แห่งทั่วประเทศ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามเป็น “สถาบันราชภัฏ” หอสมุดจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น หอสมุดสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ 

          พ.ศ. 2538 ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 ให้สถาบันราชภัฏเป็น สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงทำการวิจัยให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู

          พ.ศ. 2539 สถาบันได้จัดตั้งศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้สำหรับนักศึกษา อาจารย์ และพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตของสถาบันอย่างเต็มรูปแบบ (ที่มา : รายงานประจำปี 2542)

          พ.ศ. 2540 สถาบันได้จัดตั้งศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเดิมสังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและจัดอบรม เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ ด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่นักศึกษา อาจารย์ของสถาบัน

           

          พ.ศ. 2543 หอสมุดได้ปรับฐานะและลักษณะงานบริการเป็น ศูนย์วิทยบริการ และย้ายมายังอาคารวิทยบริการ (อาคาร 26) ในเดือนมิถุนายน 2543 เพื่อความทันสมัย

          พ.ศ. 2544 ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตและศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ได้ย้ายมายังอาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวและรองรับการเรียนการสอนและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในปีเดียวกัน สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ได้ขยายพื้นที่การศึกษาไปยังพื้นที่สะลวง-ขี้เหล็ก และพื้นที่แม่สา ศูนย์วิทยบริการ จึงจัดตั้งห้องสมุดในพื้นที่การศึกษาดังกล่าว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการในพื้นที่ที่ไกลออกไป

          พ.ศ. 2546 สถาบันได้ยุบรวมศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตให้เป็นหน่วยงานเดียวกับศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

          พ.ศ. 2547 จัดตั้งวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน ณ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บนเนื้อที่ 109 ไร่ 6 ตารางวา

ในปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 อันมีผลให้สถาบันราชภัฏเชียงใหม่เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมีสภาพเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ และในวันที่ 14 มิถุนายน 2547 และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

          พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยได้รวมโครงสร้างของศูนย์บริการคอมพิวเตอร์และศูนย์วิทยบริการ เพื่อให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็น “สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์รำไพ แสงเรือง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2548 

          พ.ศ. 2552 สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มี อาจารย์ ดร. ศุภกฤษ เมธีโภคพงษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552 

          พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยได้มีการปรับโครงสร้างภายใน โดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แยกออกเป็น 2 หน่วยงานคือ สำนักหอสมุดและสำนักดิจิทัลเพื่อการศึกษา ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุทธินันท์ ชื่นชม ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 - 24 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กัลทิมา พิชัย ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุด และในวันที่ 24 เมษายน 2566 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชโรชีนีย์ ชัยมินทร์ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด จนถึงปัจจุบัน